แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ สอนออนไลน์อย่างไรให้ปัง
1.เนื้อหาต้องครบ สำคัญที่สุดก็คือเนื้อหาต้องครบถ้วนไม่แตกต่างจากการสอนในห้องเรียนแบบ
Offline โดยเฉพาะในส่วนของสาระสำคัญของเรื่องนั้น
หากเนื้อหาสาระตกหล่น จะทำให้ผู้สอนขาดความน่าเชื่อถือในทันที
และผู้เรียนจะจดจำในแง่ลบ หลังจากนั้นหากผู้เรียนเจอคลิปของผู้สอนปรากฏอีก อาจกด Skip
ได้ง่าย ยิ่งถ้าหากเกิดการบอกต่อเป็นวงกว้าง คลิปสอนถูกกด Skip
บ่อยครั้ง เครดิตผู้สอนก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ
ยิ่งถ้าหากเป็นการปล่อยคลิปบนโลกออนไลน์ในช่องทางฟรี เมื่อถูกกด Skip ในความถี่ ก็อาจมีผลต่อ SEO อีกต่างหาก
2.สไลด์ต้องดี การสอนออนไลน์ ควรทำสไลด์ประกอบการสอน ซึ่งสไลด์ที่จัดทำขึ้น
ก็ควรมีเนื้อหาที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย
ไม่จำเป็นต้องใส่ตัวหนังสือเยอะจนแน่น แต่สามารถสรุปมาเป็นข้อความสั้นๆ ก็ได้
หากเป็นเนื้อหายาวๆ อาจย่อเป็นข้อๆ หรือทำเป็น Bullet เพื่อให้ผู้เรียนทำความเข้าใจง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระหว่างสอนก็ต้องอธิบายถึงเนื้อหาที่ถูกย่อเอาไว้ให้ละเอียด
ไม่ควรพูดแบบย่อๆ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงเนื้อหาที่แท้จริง
ไม่ใช่เพียงผิวเผินเท่านั้น
3.อย่าลืมพูดคุยกับผู้เรียน สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ หากเป็นการสอนผ่านคลิปสอน
ผู้สอนอาจต้องพูดคนเดียวกับกล้องก็จริง
แต่คำพูดที่ใส่ลงไปก็อย่าลืมสื่อสารกับผู้เรียนด้วย
ให้พูดคุยกับผู้เรียนระหว่างสอน โดยการระลึกไว้เสมอว่าเราไม่ได้พูดคนเดียวอยู่
แต่เป็นการพูดกับผู้เรียน พยายามเรียกสรรพนามแทนตัวผู้เรียน เช่น ทุกคน,
นักเรียน, น้องๆ, เด็กๆ
เป็นต้น รวมถึงสำนวนการพูดคุย ที่ไม่ใช่แค่การพูดไปตามเนื้อหาเพียงอย่างเดียว
หรืออ่านตามตัวหนังสือ ที่ถึงแม้จะเป็นเนื้อหาที่ย่อมาด้วยตัวเองก็ตาม
เพราะอาจทำให้ไม่เป็นธรรมชาติและแข็งทื่อ จนทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่ายได้
4.Hi-Tech การสอนออนไลน์ต้อง Hi-Tech ไม่ต้องมากมายแต่ก็ต้องฝึกฝนการใช้เครื่องมือเอาไว้ให้คล่องแคล่ว
อย่างน้อยๆ ก็ควรเปิดสไลด์การสอนสลับกับการถ่ายทอดการเขียนบนแผ่นกระดาษได้ด้วย
เพราะบางเนื้อหาอาจต้องใช้การเขียนเข้ามาช่วย
หรือแม้แต่การเขียนโน๊ตลงไปในสไลด์เลย หากทำได้ก็จะช่วยให้การสอน Smooth ขึ้น การใช้เครื่องมือที่ผสมผสานกันยังทำให้ผู้เรียนเข้าใจมากขึ้นด้วย
5.คลิปประกอบต้องมา บางเนื้อหาวิชาในการสอน
สามารถใช้คลิปตัวอย่างเพื่อประกอบการสอนได้ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น
หากมีการสอนผ่านออนไลน์ อย่าลืมสลับจากหน้าสไลด์ไปที่คลิปตัวอย่างต่างๆ
ผู้เรียนจะรู้สึกสนใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น ช่วยให้การเรียนต่อเนื่องไม่ราบเรียบเกินไป
ผู้เรียนจะมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหา ไม่เบื่อหน่ายหรือไม่ล้ามากนัก
จากการฟังบรรยายเพียงอย่างเดียวต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ อาจจะเป็นคลิปชวนคิด
แฝงไว้ด้วยคำถามปลายเปิดเพื่อให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์ตามไปด้วย
หรือเป็นคลิปเหตุการณ์ตัวอย่าง ในกรณีศึกษาต่างๆ ก็ได้
6.สอนกระชับ การสอนจำเป็นต้องให้เนื้อหาสาระสำคัญครบถ้วน แต่ก็ต้องกระชับด้วย
พยายามบรรยายเนื้อหาที่เป็นแก่นสำคัญ คัดเอาแต่เนื้อๆ ไม่เน้นน้ำ
เพื่อให้กระชับและเข้าใจง่าย
เน้นการยกตัวอย่างก็ช่วยให้ผู้เรียนนึกภาพตามได้ง่ายขึ้น การยกตัวอย่างยังช่วยลดพื้นที่การสอนบางส่วนลงไปได้
ทำให้ไม่ต้องสิ้นเปลืองคำพูดมากนัก
เพราะถูกแทนที่ด้วยกรณีตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจมากขึ้น ช่วยให้การสอนกระชับขึ้น
ผู้เรียนเข้าใจง่ายขึ้นด้วย
7.มีช่องทางให้สอบถามภายหลัง หากการสอนออนไลน์ไม่ใช่การถ่ายทอดสด (Live)
สิ่งที่ผู้เรียนหลายคนกังวลก็คือ
หากเกิดข้อสงสัยขึ้นมาจะไม่สามารถสอบถามได้ ไม่สามารถคลายข้อสงสัยของตัวเองได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสอบถามทำได้ง่ายนิดเดียว
คือผู้สอนจะต้องทิ้งช่องทางการติดต่อเอาไว้
เพื่อให้ผู้เรียนสามารถส่งคำถามทิ้งไว้ได้ แล้วผู้สอนก็มาตามตอบคำถามทีหลังได้ด้วย
เช่น Email Inbox Direct message หรือช่องทางอื่นๆ
ตามความสะดวกของผู้สอน
8.ทำชีทแจกด้วยจะดีมาก ตัวช่วยสำหรับการสอนออน์ไลน์ แนะนำให้ทำชีทแจกผู้เรียนด้วย
ให้ผู้เรียนได้มีหนังสือเอาไว้เปิดตามขณะเรียน
ผู้เรียนจะมีเนื้อหาอยู่ในมือให้อุ่นใจ หากต้องการจดอะไรเพิ่มเติมก็โน๊ตลงไปได้เลย
ไม่ต้องนั่งจดตามทุกคำพูดหรือทุกข้อความบนสไลด์ให้เมื่อย
แถมยังเสี่ยงจดตามไม่ทันอีกต่างหาก ผู้สอนอาจเอาสไลด์ที่ตัวเองทำไว้สอนอยู่แล้ว
แจกเป็นไฟล์ให้ผู้เรียน โดยการอัพโหลดไว้ที่ใดสักแห่ง
แล้วส่งลิงค์ให้ผู้เรียนได้ดาวน์โหลด เพื่อใช้ประกอบการเรียนได้